รู้ไว้ไม่เสียหาย! ตรวจรับห้องก่อนซื้อคอนโดด้วยอุปกรณ์ที่มีทุกบ้าน

โพสต์เมื่อ : 18 ม.ค. 2565 1087
รู้ไว้ไม่เสียหาย! ตรวจรับห้องก่อนซื้อคอนโดด้วยอุปกรณ์ที่มีทุกบ้าน

รู้ไว้ไม่เสียหาย! ตรวจรับห้องก่อนซื้อคอนโดด้วยอุปกรณ์ที่มีทุกบ้าน

 

 

    สวัสดีค่ะพี่ ๆ ช่วงนี้พี่ ๆ หลาย ๆ คนอาจจะกำลังมองหาคอนโดน่าอยู่ โครงการใหม่ ๆ หรือกำลังจะย้ายเข้าไปอยู่คอนโด วันนี้น้อง Propso จะมาแชร์ความรู้วิธีการตรวจรับห้องก่อนซื้อคอนโดด้วยตัวเอง ด้วยอุปกรณ์ที่มีทุกบ้าน หรือหาซื้อได้ง๊ายง่ายกันค่ะ จะบอกว่าขั้นตอนนี้สำคัญมากนะคะ ถ้าเราไม่เช็กให้ดี เมื่อเราเข้าไปอยู่ อาจจะพบปัญหาจุกจิกกวนใจ พอจะเรียกร้องจากโครงการหรือให้นิติคอนโดแก้ปัญหา ก็ช้าไปซะแล้ว เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของพี่ ๆ น้อง Propso จะมาบอกแบบไม่มีกั๊กเลยค่ะ


ข้อดีของการตรวจรับ
คอนโด

  1. ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยในการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบประปา และระบบสุขาภิบาล

  2. ในฐานะผู้บริโภค เราไม่ควรถูกเอาเปรียบ หารมีการสร้างหรือตกแต่งไม่เรียบร้อย ต้องแจ้งโครงการเพื่อแก้ไขให้ตรงตามสเปคที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก

  3. ลดความยุ่งยากในการแก้ไขหรือซ่อมแซม เพราะเมื่อเราย้ายเข้าไปอยู่แล้ว ขั้นตอนในการดำเนินการแก้ไขจะยุ่งยาก ซับซ้อน หลายขั้นตอนมาก ๆ นั่นเองค่ะ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการตรวจรับคอนโด

    อุปกรณ์ที่น้อง Propso จะมาแชร์นี้ เป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วเกือบทุกบ้าน หรือถ้าพี่ ๆ ไม่มี ก็หาซื้อได้ง่ายมาก ๆ เช่นเดียวกันค่ะ แถมยังราคาไม่แพงเลย ของบางอย่างพี่ ๆ อาจจะตกใจว่า “ห้ะ สิ่งนี้ก็นำมาใช้ประโยชน์แบบนี้ได้ด้วยหรอ!?” เพราะจุดเล็กจุดน้อยแค่ไหน ก็อย่าปล่อยผ่านเชียวนะคะ ก็แหม ราคาไม่ใช้สิบบาทยี่สิบบาทใช่มั้ยล่ะคะ เราต้องพิถีพิถันกันหน่อยล่ะเนอะ

  1. กระดาษ - เอาไว้จดรายการที่ต้องซ่อมแซม กระดาษโพสต์อิท เอาไว้แปะจุดที่ต้องการแก้ไข

  2. ไขควงวัดไฟ หรือ สายชาร์จมือถือก็ได้ค่ะ - เอาไว้เช็กระบบไฟฟ้าว่าสามารถใช้งานได้ดีหรือไม่

  3. ถังน้ำ - ใส่น้ำเพื่อเทเช็กระดับของพื้น เช่น ระเบียง ห้องน้ำ เป็นต้น

  4. ถุงมือและถุงเท้า - ใช้สำหรับตรวจสอบพื้นห้องและผนังห้อง

  5. ลูกแก้ว - สำหรับตรวจสอบความลาดเอียงของพื้น พื้นไม่เสมอกัน หรือพื้นเป็นหลุม

  6. กล้องถ่ายรูป หรือ มือถือ - เพื่อถ่ายภาพรายละเอียดเก็บไว้เป็นหลักฐาน

    ถ้าเราได้อุปกรณ์ครบแล้วก็มาเริ่มตรวจรับคอนโดกันเลย!

วิธีการตรวจรับ
คอนโดง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

    พื้น ผนัง วอลล์เปเปอร์ และเพดาน เป็นพื้นที่ที่เราต้องเริ่มตรวจสอบกันก่อนค่ะ เพราะเป็นส่วนที่มีพื้นที่เยอะ ต้องใช้ความละเอียดและสมาธิในการตรวจเช็กมากที่สุด


    พื้น การตรวจเช็กความเรียบร้อยของพื้น นอกจากเช็กด้วยตาเปล่าแล้ว การใช้เท้าสัมผัสก็จะยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นค่ะ โดยขั้นตอนนี้เราควรใส่ถุงเท้าแล้วเดินลากเท้าดูว่าสะดุดตรงไหนบ้างมั้ย พื้นบวมหรือเปล่า เป็นโพรงไม่สนิทมั้ย หรือเหมือนจะหลุดออกมามั้ย และการตรวจพื้นควรใช้ลูกแก้วเข้ามาช่วย เพื่อดูการปูพื้นของห้องว่าเสมอกันมั้ย เมื่อเทลูกแก้วลงไปแล้ว ลูกแก้วไหลรวมกันเป็นจุดเดียวหรือไม่ เพราะถ้าลูกแก้วไหลรวมกัน แสดงว่าพื้นห้องเป็นหลุมจากการเทพื้นที่ไม่เท่ากันของช่างค่ะ

    ในส่วนของพื้นที่อาจจะมีโอกาสในการขังตัวของน้ำสูง เช่น ห้องน้ำและระเบียง เราควรใช้ถังน้ำในการตรวจสอบ โดยการเทน้ำออกจากถังจนทั่วพื้น หากน้ำไหลลงรูระบายน้ำได้ปกติจนน้ำหมดพื้น แปลว่าช่างเทพื้นได้องศามาตรฐาน แต่หากน้ำไหลช้า ไหลไม่หมด เหลือค้างไว้ที่พื้น ก็ต้องบันทึกสำหรับการแก้ไขไว้ค่ะ
 

    ผนังหรือวอลล์เปเปอร์ ห้องที่เป็นผนังเปล่าจะเช็กได้ค่อนข้างง่ายกว่าผนังที่ติดวอลล์เปเปอร์ค่ะ ผนังเปล่าสามารถดูได้ด้วยตาเปล่าว่ามีการฉาบเรียบหรือไม่ เกิดร้อยร้าวบริเวณไหนบ้าง ทาสีได้สม่ำเสมอกันมั้ย มีรอยด่างตรงไหนหรือเปล่า ส่วนผนังวอลล์เปเปอร์ สิ่งที่ควรตรวจอันดับแรกคือรอยฉีกขาด ว่าเกิดรอยฉีกขาดหรือไม่ มีความเนียนในการติดมั้ย โดยเฉพาะรอยต่อ แต่งสิ่งที่สำคัญมากที่สุดจริง ๆ คือผนังจริงของห้อง เนื่องจากติดวอลล์เปเปอร์ทำให้เรามองไม่เห็นผนังห้องจริง ๆ ใช่มั้ยล่ะคะ เราจึงจำเป็นต้องใช้ถุงมือเข้ามาช่วยสัมผัสและลูบผนัง การลูบผนังจะทำให้เรารู้ผนังจริงภายในว่ามีการฉาบเรียบมั้ยนั่นเองค่า
 

    เพดาน พื้นที่ที่หลาย ๆ คนมองข้ามไปคือเจ้าสิ่งนี้นี่แหละค่ะ เพดานที่ดีควรเรียบเสมอกันทั้งหมด ไม่มีคราบน้ำที่เป็นร่องรอยของการรั่วซึมจากห้องด้านบน ไม่เป็นแอ่งหรือตกท้องช้างค่ะ
 

    ระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ที่จะนำมาตรวจสอบขั้นตอนนี้ คือ ไขควงวัดไฟ หรือสายชาร์จมือถือก็ได้ค่ะ การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ให้ทำการเปิดไฟทั้งหมดทุกห้อง รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อทดสอบว่าไฟเข้ามั้ย อุปกรณ์ที่โครงการแถมมาให้ใช้ได้ดีไหม ชำรุดหรือเปล่า ไฟเข้าสม่ำเสมอหรือไม่
    ในกรณีที่เกิดไฟรั่ว เราจะรู้ได้ยังไงล่ะ? มีวิธีง่าย ๆ โดยที่เราไม่ต้องเอาตัวเองไปเสี่ยง คือ ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในห้องแล้วสังเกตที่มิเตอร์ไฟ หากมิเตอร์ไฟยังเดินอยู่ แสดงว่าเกิดไฟรั่วภายในห้อง ต้องรีบแจ้งช่างโดยด่วนค่ะ

    ระบบประปา มีพี่ ๆ หลายคนยังเข้าใจผิดว่า แค่เปิดก๊อกแล้วน้ำไฟปกติก็ไม่มีอะไรแล้ว น้อง Propso จะบอกว่าเป็นความคิดที่ผิดมาก ๆ เลยค่ะ สิ่งที่เราต้องตรวจสอบมากกว่านั้น คือ ระบบการระบายน้ำและแรงดันน้ำด้วยค่ะ สำหรับการตรวจการระบายน้ำ วิธีเช็ก คือ เปิดน้ำให้เต็มในแต่ละจุดแล้วจึงค่อยเปิดรูระบายน้ำออก รอดูว่าน้ำระบายหมดหรือไม่ ระบายเร็วแค่ไหน เพราะบางครั้งท่อน้ำอาจจะมีเศษหิน เศษปูน อุดตันอยู่ค่ะ ส่วนแรงดันน้ำ ให้ลองเปิดน้ำในแต่ละจุดพร้อม ๆ กัน แล้วสังเกตว่าแรงดันน้ำที่ไหลออกมาตกหรือไม่

    อีกจุดที่ต้องสังเกตตามท่อระบายน้ำในส่วนของอ่างล้างหน้า ซิงค์ล้างจาน ว่ามีน้ำรั่วซึมออกมามั้ย มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมามั้ย เมื่อตรวจสอบแล้วพบปัญหา ต้องบันทึกไว้ แล้วแจ้งโครงการค่ะ
 

    ประตูและหน้าต่าง นอกจากเรื่องความสวยงามในการออกแบบแล้ว ความปลอดภัยคือสิ่งที่ต้องมาอันดับหนึ่งนะคะพี่ ๆ ประตูหน้าต่างต้องแข็งแรง ลูกบิดต้องยึดติดกับบานประตูแน่นดี ส่วนหน้าต่างบานเลื่อนกระจกต้องไม่มีรอยร้าว รอยแตก ดูวงกบว่าสนิทแนบชิดกันหรือมีรอยแยกหรือไม่ บานประตูเลื่อนรางฝืดมั้ย ตกรางไหม การตรวจสอบต้องทำหลาย ๆ ครั้ง เปิด-ปิด เลื่อนเข้า-เลื่อนออก เพื่อความมั่นใจว่าอยู่ไปนาน ๆ จะไม่เกิดปัญหา
 

    นอกจากนี้แล้วสิ่งที่เราไม่ควรละเลย คือ ยาแนว และสุขภัณฑ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ทางโครงการแถมมาให้ เช่น อ่างล้างหน้า ตู้อาบน้ำ ระบบเครื่องทำน้ำอุ่น เคาน์เตอร์ครัว อ่างล้างจาน ระบบเตาไฟฟ้า เครื่องดูดควัน ชั้นวางของ เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์แอร์ ท่อน้ำทิ้งจกากเครื่องปรับอากาศ หากพบว่ามีส่วนไหนชำรุด หรือไม่อยู่ในสภาพปกติพร้อมใช้งาน ต้องจดบันทึก และแปะโพสต์อิทไว้ทุกจุดที่ต้องการแก้ไขไว้ด้วยนะคะพี่ ๆ
 

    หลังจากที่เราตรวจสอบห้องแล้วเรียบร้อย เราควรทำรายงานสรุปว่าทางโครงการต้องแก้ไข ซ่อมตรงไหนให้เราบ้าง ส่วนระยะเวลาในการซ่อมแซมก็ไม่แน่นอน บางคอนโดใช้เวลาเป็นเดือน เพราะการซ่อมแซมต้องเป็นไปตามคิวที่แจ้งเรื่องมานั่นเองค่ะ และเมื่อห้องถูกซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราจำเป็นต้องตรวจสอบอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ ว่าเจ้าหน้าที่ซ่อมแซมครบถ้วนและถูกต้องตามที่เราต้องการหรือไม่ ถ้าถูกต้องเรียบร้อยแล้ว พี่ ๆ ก็เตรียมย้ายกระเป๋าไปอยู่คอนโดใหม่ได้เลยค่า! ^^


    เป็นยังไงบ้างคะพี่ ๆ การตรวจสอบคอนโดด้วยตัวเองไม่ยากเกินไปเลยใช่มั้ยล่ะคะ ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ๆ เลยนะคะ เพื่อป้องกันและรักษาสิทธิ์ของผู้ซื้อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง หากเราปล่อยผ่านไปแล้วจะมาซ่อมภายหลังก็ยุ่งยากสุด ๆ ไปเลยค่ะ ToT แถมยังอาจจะเสียเงินเพิ่มอีกด้วย เพราะฉะนั้นอย่าลืมตรวจสอบคอนโดก่อนรับโอนห้องกันด้วยน๊า ^o^//
 

    พี่ ๆ คนไหนกำลังเล็ง ๆ คอนโดไว้อยู่ แต่ยังไม่มีโครงการที่ถูกใจ สามารถดูได้จากลิสต์ที่น้อง Propso นำมาเสนอข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ


    ดู 10 คอนโดใกล้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ


    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

    มหาวิทยาลัยศรีปทุม

    มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

    มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)

    มหาวิทยาลัยสยาม

    มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

    มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

 

    ดู 10 คอนโดใกล้โรงเรียนอื่น ๆ


    โรงเรียนเตรียมอุดม

    โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์

    โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์

    โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก

    โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา

    โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

    โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย

    โรงเรียนนานาชาติเวลส์

    โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

    โรงเรียนบางกอกพัฒนา

 

    สำหรับวันนี้น้อง Propso ต้องขอตัวลาไปก่อนนะคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับพี่ ๆ ไม่มากก็น้อยนะคะ บ๊ายบายค่า ^^/

ข่าวสาร

ข่าวสารจากเว็บไซต์ ดูทั้งหมด